Loading...

ระยะที่ 1 การรับบริจากที่ดินจาบริษัท ทองถาวรอุตสาหกรรม จำกัด

 

 

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับบริจาคที่ดินจากบริษัท ทองถาวรอุตสาหกรรม จำกัด โดย  ดร.ถาวร พรประภา ซื่งแสดงความจำนงมอบที่ดิน ตำบลโป่ง อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี เนื้อที่ 565 ไร่ 3 งาน 35 ตารางวา เพื่อใช้ในราชการของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมีข้อตกลงการ ให้ที่ดินสรุปได้รวม 3 ประการ คือ

     1.ให้ใช้เป็นสถานที่เพื่อให้การศึกษา ส่งเสริมวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง ทำการสอน ทำการวิจัย ให้บริการทางวิชาแก่สังคม ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม และดำเนินการที่เป็นประโยชน์แก่สาธารณะ 

     2.หากที่ดินที่มอบให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยังไม่ได้ก่อนสร้างอาคารหรือระบบโครงสร้างขั้นพื้นฐานหรือ ดำเนินการพัฒนาที่ดิน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยินยอมให้บริษัทใช้ที่ดินนั้นในการเกษตรกรรม เพื่อประโยชน์ทางวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และให้รายงานผลทางวิชาการในการใช้ที่ดินแนั้นแก่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะใช้ที่ดินส่วนใด ก็ให้แจ้งให้ทราบล่วงหน้าอย่างน้อยหนึ่งปี

     3.เมื่อมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ดำเนินการใช้ที่ดินตามโครงการพัฒนาการศึกษามหาวิทยาลัย (โครงการพัทยา) ขอให้ใช้ชื่อว่า "มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ถาวร-อุษา พรประภา"

ระยะที่ 2 การก่อตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา

ในปีพ.ศ.2537 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้พิจารณาว่า มีความเหมาะสมที่จะนำพื้นที่บริเวณศูนย์พัทยามาใช้พัฒนาเป็นโครงการ โดยสภามหาวิทยาลัย มีมติให้ตั้ง "ศูนย์นวัตกรรมอุดมศึกษา" ขึ้น เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2538   เพื่อให้เป็นหน่วยงานอิสระของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อันมีรูปแบบการบริหารจัดการที่เป็นอิสระและคล่องตัวนอกระบบราชการ  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นศูนย์บริการทางวิชาการ ศูนย์วิจัย และพัฒนา ศูนย์การศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา การวิจัยระดับสูงและศูนย์ฝึกอบรมสัมมนา เพื่อพัฒนาศักยภาพและคุณภาพทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ  และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีการสื่อสารโทรคมนาคม เพื่อถ่ายทอดความรู้เทคโนโลยีและบริการทางวิชาการ ต่าง ๆ ในวงกว้าง  เพื่อตอบสนองต่อการพัฒนาในระดับต่าง ๆ ที่จะเอื้อประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสภาพแวดล้อมของประเทศ  ประกอบกับขณะนั้น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ประสบปัญหาสถานที่ไม่เพียงพอต่อการจัดการเรียนการสอน การวิจัยและพัฒนา และการบริการทางวิชาการต่าง ๆ เนื่องด้วยท่าพระจันทร์ไม่อาจขยายต่อเติมได้ เพราะตั้งอยู่ในเขตอนุรักษ์เกาะรัตนโกสินทร์มีพื้นที่จำกัด และมีอาคารสถานที่แออัดอยู่แล้ว  ส่วนบริเวณรังสิตเป็นพื้นที่ซึ่งอยู่ใกล้ชุมชน และมีแนวโน้มที่ชุมชนเมือง โดยเฉพาะย่านพักอาศัยจะขยายตัวมาสู่พื้นที่นี้มากยิ่งขึ้น  ขณะที่โรงงานอุตสาหกรรมมีแนวโน้มที่จะย้ายออกไปตั้งในภูมิภาคมากขึ้น  จึงขาดความเหมาะสมที่จะพัฒนาการจัดการเรียนการสอน การวิจัยและพัฒนาในด้านเทคโนโลยี ที่เชื่อมโยงกับการพัฒนาอุตสาหกรรม เนื่องจากการวิจัยและพัฒนาอย่างได้ผลนั้น  จำเป็นต้องมีปฏิสัมพันธ์กับการปฏิบัติการจริงอย่างใกล้ชิด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงได้จัดทำแผนแม่บทการพัฒนาวิทยาลัยนวัตกรรมอุดมศึกษา ตั้งแต่ พ.ศ.2537   โดยกำหนดองค์ประกอบของศูนย์นวัตกรรมอุดมศึกษาเป็น 4 ประการ ดังนี้

  1. ศูนย์วิจัยและพัฒนา (Research and Development Center)

  2. ศูนย์การศึกษาต่อเนื่องในระดับสูง ( Advanced Research & Degree Program)

  3. ศูนย์ฝึกอบรมสัมมนา (Training & Conference Facilities)

  4. ศูนย์บริการทางวิชาการ (Resources Center)

ในปี พ.ศ. 2538 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ขอรับการจัดสรรงบประมาณแผ่นดินประจำปี 2538 ก่อสร้างกลุ่มอาคารฝึกอบรมสัมมนา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา โดยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จทรงวางศิลาฤกษ์อาคาร ฯ เมื่อวันอังคารที่ 25 กุมภาพันธ์ 2540 (ระยะเวลาก่อสร้างตั้งแต่ปีงบประมาณ 2539-2542) โดยอาคารดังกล่าว ประกอบด้วย

  1. อาคารฝึกอบรมสัมมนา

  2. อาคารบริการจัดเลี้ยง

  3. อาคารโรงแรม

  4. อาคารสโมสรและสระว่ายน้ำ

  5. สนามเทนนิส

- โครงสร้างการบริหารศูนย์ ฯ มีคณะกรรมการอำนวยการชุดหนึ่ง ทำหน้าที่กำหนดนโยบายให้สอดคล้องกับนโยบายของมหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการคนหนึ่งรับผิดชอบปฏิบัติตามนโยบาย และทำหน้าที่เป็นเลขานุการคณะอำนวยการส่วนโครงสร้างภายในจะใช้ระบบการจ้างแบบเอกชนในลักษณะเป็นลูกจ้างของมหาวิทยาลัย หรือ อาจจะเป็นการขอตัวบุคลากรของมหาวิทยาลัยไปช่วยงานของศูนย์เป็นกรณีพิเศษโดยคำสั่งของอธิการบดีได้

- สถานะของศูนย์ เป็นหน่วยงานในระดับคณะ สถาบัน สำนัก  แต่มิใช่เป็นส่วนราชการ  มีระบบการบริหารงานที่เป็นอิสระและคล่องตัวทางด้านบุคลากรและงบประมาณ  โดยไม่ต้องอิงเงินเดือนของราชการและไม่เป็นข้าราชการ  ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลในลักษณะเงินก้อน  และได้รับเงินอุดหนุนในการดำเนินการในลักษณะภาพรวมทั้งแผน  

            ดังนั้น ศูนย์นวัตกรรมอุดมศึกษาจึงเริ่มต้นในรูปของหน่วยงานนอกระบบราชการ และมีที่ตั้งอยู่ ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา ทำหน้าที่ในการบริหารจัดการและดูแลอาคาร สถานที่ต่างๆ ซึ่งมีทั้งอาคารโรงแรม 75 ห้อง อาคารสัมมนา ห้องประชุมต่างๆ ซึ่งมีชื่อเรียกในช่วงนั้นว่า “อุทยานการเรียนรู้ วิทยาลัยนวัตกรรมอุดมศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ “(Learning resort)

ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น "วิทยาลัยนวัตกรรมอุดมศึกษา" ตามมติสภามหาวิทยาลัย ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2540 และได้มีการะแก้ไขชื่ออีกครั้งตามมติสภามหาวิทยาลัย ในวันที่ 7 มีนาคม 2551 เป็น  “วิทยาลัยนวัตกรรม”

ระยะที่ 3 การจัดตั้งงานบริหารศูนย์พัทยา สำนักงานประสานศูนย์การศึกษาภูมิภาค

 

          ปรัชญาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ประกาศไว้โดยท่านผู้ประศาสน์การ ที่ว่า "...มหาวิทยาลัยย่อมอุปมา ประดุจบ่อน้ำ บำบัดความกระหายของราษฎร ผู้สมัครแสวงหาความรู้ อันเป็นสิทธิและโอกาส ที่เขาควรมีควรได้ ตามหลักเสรีภาพของการศึกษา..." ยังคงเป็นหลักปรัชญาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยึดมั่นเป็นปรัชญาสำคัญในการบริหารมหาวิทยาลัย แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงมากมายในด้านต่างๆ โดยเฉพาะในด้านการแข่งขันของสถานศึกษาในปัจจุบัน ดังจะเห็นจากวิสัยทัศน์ของท่านอธิการบดี ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ ที่กำหนดวิสัยทัศน์ให้ “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นเลิศเป็นธรรม ร่วมนำสังคม ระดมพลังหลากหลาย สู่เป้าหมายยิ่งใหญ่ รับใช้ประชา พัฒนาองค์รวม” ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์ที่มุ่งให้เป็นมหาวิทยาลัยสมบูรณ์แบบ ที่มีความลุ่มลึก และโดดเด่นในองค์ความรู้ที่ครบถ้วน ในทุกศาสตร์ เพื่อการพัฒนา และการแก้ปัญหาให้แก่สังคมไทยและภูมิภาค โดยมีระบบบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพสอดคล้อง กับหลักธรรมาภิบาล และจากเป้าหมายของมหาวิทยาลัยที่มุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง มีผลงานทางวิชาการที่มีคุณภาพระดับสูงเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง ทั้งในระดับประเทศและในภาคพื้นเอเซียแปซิฟิค รวมทั้งเป็นสถาบันการศึกษาซึ่งเป็นผู้นำ ในการผลักดันและส่งเสริมการสร้างโอกาส ความเสมอภาคและความเป็นธรรมให้กับสังคม ตลอดจนเป็นมหาวิทยาลัยที่มุ่งเน้นไปสู่ภารกิจ ด้านการวิจัยและการให้บริการสังคม และมีระบบบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ สามารถเป็นแบบอย่างให้แก่มหาวิทยาลัยไทยได้

          จากปรัชญาและวิสัยทัศน์ข้างต้น ถือว่าเป็นหลักคิดและหลักการสำคัญในการบริหารและพัฒนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยเมื่อมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีนโยบายขยายโอกาสทางการศึกษาไปสู่ภูมิภาค ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2548 และศูนย์พัทยาภารกิจหนึ่งของมหาวิทยาลัยที่ต้องการสร้างให้เป็นศูนย์กลางการศึกษาในภาคตะวันออก

          งานบริหารศูนย์พัทยา สังกัดสำนักงานประสานศูนย์การศึกษาภูมิภาค ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งในสังกัดสำนักงานอธิการบดี มีฐานะเป็นหน่วยงานกลางที่มีหน้าที่สนับสนุนการเรียนการสอนและการให้บริการทางวิชาการไปสู่ภูมิภาค เกิดขึ้นจากการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการสำนักงานอธิการบดีตามมติสภามหาวิทยาลัย  เมื่อวันจันทร์ที่ 20 ธันวาคม 2547 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันอังคารที่ 1 กุมภาพันธ์ 2548  เพื่อผลักดันนโยบายขยายโอกาสทางการศึกษาที่จะมุ่งพัฒนาให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ศูนย์พัทยาอย่างจริงจัง  ให้เป็นศูนย์การศึกษาต่อเนื่องในระดับสูง  ศูนย์วิจัยและพัฒนา   ศูนย์ฝึกอบรมสัมมนา และศูนย์บริการทางวิชาการ (Resources Center) ของมหาวิทยาลัยในภูมิภาคที่มีความสมบูรณ์แบบในตัวเอง  เพื่อตอบสนองความต้องการของท้องถิ่นอย่างแท้จริง  และนำความเป็นเลิศทางวิชาการ  วิธีคิด  และวิถีของความเป็นธรรมศาสตร์ไปสู่ชุมชนภาคตะวันออกอย่างมีประสิทธิภาพ  ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือและการสนับสนุนงบประมาณทั้งจากภาครัฐบาล   ส่วนราชการในพื้นที่  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น   ศิษย์เก่า   ผู้นำท้องถิ่น   และผู้นำ

การพัฒนาทางกายภาพ

1) ได้รับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อพัฒนาด้านกายภาพเป็นหลักในการดำเนินงานก่อสร้างอาคารต่างๆ แต่ต่อมามหาวิทยาลัยได้ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาท้องถิ่นและชุมชนในภาคตะวันออก  จึงได้มีความร่วมมือกันในการที่จะพัฒนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในพร้อมสำหรับภารกิจทั้งด้านการเรียน การสอน และการพัฒนาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชน ดังนั้นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และองค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี จึงได้มีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการดำเนินโครงการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมการบริหารงานท้องถิ่นและสวนพฤกษศาสตร์  เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2547  โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรีตกลงให้การสนับสนุนทางการเงินให้กับมหาวิทยาลัย จำนวน 30,000,000 บาท เพื่อใช้ในการก่อสร้างอาคารบ้านพัก สิ่งปลูกสร้างอื่นๆ เพื่อการดำเนินงานศูนย์ฝึกอบรมการบริหารงานท้องถิ่น และการจัดทำสวนพฤกษศาสตร์

2) ได้รับจัดสรรงบประมาณผูกพันต่อเนื่อง 3 ปี ระหว่างปีงบประมาณ 2550-2552 เป็นเงิน 57,225,800 บาท เพื่อก่อสร้างระบบสาธารณูปการและอาคารฝึกอบรมท้องถิ่น  (อาคารเรียน) ซึ่งงบประมาณที่ได้จัดสรรนั้นไม่เพียงพอมหาวิทยาลัยจึงจัดหางบประมาณสมทบอีก เป็นเงิน 14,306,400 บาท  และได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี เป็นเงิน 5,000,000 บาท เพื่อสมทบในการก่อสร้างอาคารกิจกรรมทางการศึกษา (ศาลาพักผ่อนรูปโดม) และสนามฟุตบอลพร้อมลู่วิ่ง  ซึ่งอาคารฝึกอบรมท้องถิ่น  (อาคารเรียน) คาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมรองรับการฝึกอบรมหลักสูตรการบริหารงานท้องถิ่น และจัดการเรียนการสอนระดับปริญญาโทก่อนเปิดภาคการศึกษาที่ 1/2552

3) ได้รับจัดสรรงบประมาณจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี เป็นเงิน 2,000,000 บาท เพื่อก่อสร้างอาคารกิจกรรมทางการศึกษา (ศาลาพักผ่อนรูปโดมบนยอดเขามะตูม) เพื่อทำให้มีแหล่งพักผ่อนหย่อนใจและเป็นจุดชมทัศนียภาพของมหาวิทยาลัยและบริเวณข้างเคียง  การก่อสร้างอาคารชมทิวทัศน์ ศาลาโดมบนเขามะตูม  จะทำให้เห็นทัศนียภาพของมหาวิทยาลัยในมุมกว้างและยังสามารถเห็นทัศนียภาพของเมืองพัทยารวมไปถึงทัศนียภาพของเขาชีจรรย์  ซึ่งอาคารชมทิวทัศน์สามารถเป็นสถานที่ของการทำกิจกรรมต่างๆได้  ตลอดจนยังเป็นการปรับปรุงทัศนียภาพของเขามะตูมให้สวยงามยิ่งขึ้น 

4) ได้รับจัดสรรงบประมาณจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี เป็นเงิน 3,000,000 บาท เพื่อก่อสร้างสนามฟุตบอลพร้อมลู่วิ่ง เพื่อเป็นสถานที่ในการจัดกิจกรรมกีฬาต่างๆ เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และชุมชน  โดยการนำกีฬาเข้ามาเป็นกิจกรรมสร้างความสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมการจัดกิจกรรมกีฬาของบุคลากร และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม

          การพัฒนาด้านการเรียนการสอน

          ระดับปริญญาโท

                   มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา ได้เปิดการเรียนการสอนในระดับปริญญาโท 4 สาขา ตั้งแต่ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2549   ได้แก่

  1. หลักสูตรการบริหารเทคโนโลยี  วิทยาลัยนวัตกรรม 

  2. หลักสูตรพัฒนาชุมชนมหาบัณฑิต ภาคพิเศษ ศูนย์พัทยา คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์

  3. หลักสูตรการเมืองการปกครองสำหรับนักบริหาร คณะรัฐศาสตร์

  4. หลักสูตรนวัตกรรมการบริการ วิทยาลัยนวัตกรรม

ระยะที่ 4 การพัฒนาเพื่อรองรับการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจภาคตะวันออก

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้รับอนุมัติงบประมาณก่อสร้าง อาคารเรียนและปฏิบัติการรวม ซึ่งอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง เพื่อรองรับการพัฒนาตามแผนการพัฒนา มธ.ศูนย์พัทยา

          ปีงบประมาณ 2558 มหาวิทยาลัยจัดการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรี หลักสูตรวิศวกรรมยานยนต์ (ภาคภาษาอังกฤษ) และวิศวกรรมซอฟต์แวร์ ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา

ปีงบประมาณ 2558 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้เล็งเห็นถึงความจำเป็นที่จะผลิตวิศวกรยานยนต์ที่มีคุณภาพเพื่อตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและการเข้ามาของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน จึงได้ก่อตั้ง โครงการหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิศวกรรมยานยนต์ (หลักสูตรภาคภาษาอังกฤษ) ขึ้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา ซึ่งเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย โดยโครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากบริษัท สยามกลการ จำกัด ที่จะสนับสนุนงบลงทุนก่อสร้างอาคารปฏิบัติการวิศวกรรมยานยนต์ ขนาด 5000 ตารางเมตร เป็นเงิน 60,000,000 บาท มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจำนวน 30,000,000 บาท จากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เพื่อก่อสร้างอาคารสนับสนุนการเรียนการสอน (หอพักนักศึกษา) 2 หลัง จำนวน 48 ห้อง เพื่อรองรับการจัดการเรียนการสอนระดับปริญญาตรี

          ปีงบประมาณ 2559 ก่อสร้างอาคารเรียนและปฏิบัติการรวมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา แล้วเสร็จเมื่อปีงบประมาณ 2562 ภายหลังเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จขอมติสภาเปลี่ยนชื่ออาคารเป็น อาคาร Thammasat Innovation Hub

          ปีงบประมาณ 2560 คณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้การเรียนการสอนเพิ่มเติมในสาขาวิศวกรรมเทคโนโลยียานยนต์ (หลักสูตรบัณฑิตพันธุ์ใหม่)

          ปีงบประมาณ 2561 กองบริหารศูนย์พัทยา ได้รับอนุมัติยกฐานะเป็นกองตามมติสภามหาวิทยาลัยครั้งที่ 7/2561 ระเบียบวาระที่ 5.3 เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2561 ที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องการปรับปรุงโครงสร้างของหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัยและมีมติอนุมัติยกฐานะงานบริหารศูนย์พัทยาเป็นกองบริหารศูนย์พัทยาเพื่อรองรับนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษของรัฐบาล และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เรื่องข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการจัดตั้งและการแบ่งส่วนงานของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2561 “(4) กองบริหารศูนย์พัทยา” ข้อ 4 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น ข้อ 10/3 แห่งข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการจัดตั้งและการแบ่งส่วนงานของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2559 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2561 ประกาศ ณ วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2562 กองบริหารศูนย์พัทยา มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการเกี่ยวกับงานบริหารทั่วไป มีหน้าที่ในการให้บริการและการดำเนินงานตามนโยบายผู้บริหารมหาวิทยาลัยในการปฏิบัติงานด้านอาคารสถานที่ ระบบสาธารณูปโภค การรักษาความปลอดภัย พัฒนาภูมิทัศน์ บริหารจัดการอาคารสถานที่ บำรุงรักษาอาคารสถานที่  ควบคุมดูแลระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ภายในพื้นศูนย์พัทยา

          ปีงบประมาณ 2562 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยื่นขอจัดตั้งเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ได้รับการประกาศเป็นพื้นที่ EECmd  ตามนโยบายของรัฐบาลเกี่ยวกับการพัฒนาพื้นที่ 3 จังหวัดภาคตะวันออกให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ EEC เมื่อวันที่ 12 ม.ค. 62 เพื่อมุ่งพัฒนาด้านการแพทย์และสุขภาพแบบครบวงจร ตอบสนองนโยบายภาครัฐในการเพิ่มขีดความสามารถของบุคลากรในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก โดยการบูรณาการความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้านการแพทย์และการจัดการสุขภาพ และเชื่อมต่อข้อมูลกับ Big data เพื่อขยายไปสู่การเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมขั้นสูงอื่นๆ  ซึ่งการพัฒนาการแพทย์ครบวงจรโดยการบูรณาการด้านอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต (Next Generation Automotive) และอุตสาหกรรมดิจิทัล (Digital Hub) เข้ากับการแพทย์และสุขภาพแบบครบวงจร เพื่อยกระดับความเจริญของประเทศ (New Engine of Growth) ได้อย่างเป็นรูปธรรม เป็นแนวทางการบริการจัดการเขตส่งเสริมเพื่อกิจการพิเศษให้ประสบความสำเร็จ โดยมุ่งหวังให้ประชาชนภาคตะวันออกได้รับประโยชน์จากการพัฒนา พื้นที่ EEC

         ได้รับมอบพื้นที่เพิ่มเติมจาก ดร.พรเทพ พระประภา ประธานกรรมการ บริษัท สยามกลการ จำกัด จำนวน 18 ไร่ 2 งาน 74 ตร.วา เพื่อสนับสนุนแผนการพัฒนาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา ทำให้ มธ.ศูนย์พัทยา มีพื้นที่จากเดิม 566 ไร่ 26.3 ตารางวา เป็นจำนวน 584 ไร่ 3 งาน 3 ตารางวา

         ปีงบประมาณ 2563 วางแผนด้าน Digital Hospital และ AI University เพื่อตอบสนองความต้องการของพื้นที่ EEC ในการพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ กำหนดวิสัยทัศน์ศูนย์พัทยา “Thammasat University, Pattaya Campus : A Leading Innopolis Campus” ประกอบด้วยพันธกิจ 3 ประการ ได้แก่ Academic Hub, Research and Excellent Hub และ Service Hub & Learning Resources Center

        ได้รับงบประมาณ ปี 2564 ในการก่อสร้างโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา วงเงิน 980 ล้านบาท ผูกพัน 3 ปีงบประมาณ (2564-2566) มหาวิทยาลัยมีเป้าหมายเปิดดำเนินการโรงพยาบาลในรูปแบบ Digital Hospital ภายในปี 2567 หรือภายปี ค.ศ. 2024