Loading...

ยุทธศาสตร์
  • จัดโครงสร้างจัดแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบตามภาระหน้าที่
  • เสริมสร้างความร่วมมือและการมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้องและชุมชน
  • เสริมสร้างการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่า
  • มีความโปร่งใสในการปฏิบัติงาน
  • ให้ความสำคัญกับผู้รับบริการทั้งคณาจารย์ บุคลากร นักศึกษา และประชาชนทั่วไป
วิสัยทัศน์
  • จัดวางระบบและระเบียบการบริหารศูนย์ ให้ชัดเจนและมีประสิทธิภาพ โดยให้มีบุคลากรประจำศูนย์
  • จัดให้เป็นศูนย์การศึกษาเต็มรูปแบบที่จะจัดการศึกษาระดับปริญญาโท/ หลักสูตรนานาชาติ และการฝึกอบรม
  • จัดระบบการใช้อาคารสถานที่เทคโนโลยีสารสนเทศ และวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ สำหรับการบริหารจัดการ การเรียนการสอน รวมทั้งการจัดกิจกรรมต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ และก่อให้เกิดผลประโยชน์สูงสุด
  • แสวงหาความร่วมมือและการสนับสนุนจากศิษย์เก่า ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำชุมชน องค์กรปกครองท้องถิ่น และส่วนราชการในพื้นที่ให้ความร่วมมือ และให้การสนับสนุนกิจกรรมต่าง ๆ ของศูนย์พัทยา
สภาพปัจจุบันของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา

ในปัจจุบันมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา ได้ก่อตั้งมาเป็นเวลา 20 ปีแล้ว และมีการพัฒนาในด้านต่างๆอย่างมากมาย กล่าวคือ

การดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา

การบริหารจัดการของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยานั้น สามารถจำแนกการบริหารเป็น 2 ส่วนคือ

  • งานบริหารศูนย์พัทยา ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2548 มีหน้าที่หลักในการดำเนินงานเรื่องต่าง ๆ คือ สนับสนุนการจัดการเรียนการสอน การให้บริการทางวิชาการแก่สังคม  และการบริหารงานในพื้นที่ศูนย์พัทยาให้เป็นไปโดยเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพรวมทั้งการประสานงานกับองค์กรต่างๆในชุมชน ท้องถิ่น ในนามของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา
  • วิทยาลัยนวัตกรรม  ได้รับมอบหมายจากมหาวิทยาลัยให้มีบทบาทในการดูแล รับผิดชอบบริหารจัดการเกี่ยวกับอาคารสถานที่และอุปกรณ์การเรียนการสอน ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ  ได้แก่ อาคารโรงแรม  อาคารสัมมนา  อาคารบ้านพักฝึกอบรมท้องถิ่น 4 หลัง และสวนพฤกษศาสตร์

ความก้าวหน้าและการพัฒนา

การพัฒนาศูนย์พัทยาได้มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านกายภาพและด้านกิจกรรมต่างๆ กล่าวคือ

การพัฒนาด้านกายภาพ  มหาวิทยาลัยได้รับงบประมาณสนับสนุนทั้งจากรัฐบาลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และแหล่งอื่นๆ กล่าวคือ

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา ได้รับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อพัฒนาด้านกายภาพเป็นหลักในการดำเนินงานก่อสร้างอาคารต่างๆ แต่ต่อมามหาวิทยาลัยได้ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาท้องถิ่นและชุมชนในภาคตะวันออก  จึงได้มีความร่วมมือกันในการที่จะพัฒนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในพร้อมสำหรับภารกิจทั้งด้านการเรียน การสอน และการพัฒนาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชน ดังนั้นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และองค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี จึงได้มีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการดำเนินโครงการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมการบริหารงานท้องถิ่นและสวนพฤกษศาสตร์  เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2547  โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรีตกลงให้การสนับสนุนทางการเงินให้กับมหาวิทยาลัย จำนวน 30,000,000 บาท เพื่อใช้ในการก่อสร้างอาคารบ้านพัก สิ่งปลูกสร้างอื่นๆ เพื่อการดำเนินงานศูนย์ฝึกอบรมการบริหารงานท้องถิ่น และการจัดทำสวนพฤกษศาสตร์ โดยมีการระบุไว้ถึงการบริหารงานศูนย์ฝึกอบรมบริหารงานท้องถิ่น ดังนี้

การบริหารงานศูนย์ฝึกอบรมการบริหารงานท้องถิ่น

  • ให้อยู่ในความรับผิดชอบของมหาวิทยาลัยที่จะดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์  โดยมหาวิทยาลัยแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารศูนย์ฝึกอบรมการบริหารงานท้องถิ่นขึ้นคณะหนึ่ง
  • ให้มีการจัดกิจกรรมฝึกอบรมเกี่ยวกับการบริหารงานท้องถิ่นต่อเนื่องทั้งปี อย่างน้อยปีละ 12 ครั้ง โดยมหาวิทยาลัยเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดหาหลักสูตรการฝึกอบรม การจัดเตรียมสถานที่ และการบริหารจัดการอื่น ๆ เพื่อให้การจัดอบรมเป็นไปโดยเรียบร้อยและบรรลุวัตถุประสงค์  และองค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี จะทำหน้าที่ในการสนับสนุนประสานงานเสนอแนะและให้ความช่วยเหลือมหาวิทยาลัยในการดำเนินกิจกรรมฝึกอบรมตลอดจนให้ความร่วมมือและสนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์ฝึกอบรมการบริหารงานท้องถิ่นให้บรรลุวัตถุประสงค์

การบริหารงานสวนพฤกษศาสตร์

  • ให้อยู่ในความรับผิดชอบของมหาวิทยาลัยที่จะดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ โดยมหาวิทยาลัยแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารสวนพฤกษศาสตร์ขึ้นคณะหนึ่ง
  • องค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี ทำหน้าที่ในการสนับสนุนประสานงานเสนอแนะและให้ความช่วยเหลือมหาวิทยาลัยในการดำเนินกิจกรรมฝึกอบรม ตลอดจนให้ความร่วมมือและสนับสนุนการดำเนินงานสวนพฤกษศาสตร์ให้บรรลุวัตถุประสงค์
  • รายรับที่มาจากกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการดำเนินงานสวนพฤกษศาสตร์ หลังจากที่หักค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องแล้ว ทั้งสองฝ่ายตกลงให้แบ่งกันคนละครึ่ง

ภายหลังจากการก่อสร้างอาคารบ้านพักศูนย์ฝึกอบรมการบริหารงานท้องถิ่น จำนวน 4 หลัง และสวนพฤกษศาสตร์ ขนาดพื้นที่ 9 ไร่แล้วเสร็จ ได้มีพิธีมอบและเปิดบ้านพักศูนย์ฝึกอบรมการบริหารงานท้องถิ่นและสวนพฤกษศาสตร์ เมื่อวันพฤหัสบดีที่   27   พฤศจิกายน  2550  โดยอาคารบ้านพักทั้ง 4 หลัง ๆ ละ 4 ห้องๆ  ละ 8-12 คน  สามารถรองรับผู้เข้าพักได้รวม 192 คน    ส่วนสวนพฤกษศาสตร์ขนาด 9 ไร่ มีพรรณไม้ในระยะแรก จำนวน 49 ชนิด

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้รับจัดสรรงบประมาณผูกพันต่อเนื่อง 3 ปี ระหว่างปีงบประมาณ 2550-2552 เป็นเงิน 57,225,800 บาท เพื่อก่อสร้างระบบสาธารณูปการและอาคารฝึกอบรมท้องถิ่น  (อาคารเรียน) ซึ่งงบประมาณที่ได้จัดสรรนั้นไม่เพียงพอมหาวิทยาลัยจึงจัดหางบประมาณสมทบอีก เป็นเงิน 14,306,400 บาท  และได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี เป็นเงิน 5,000,000 บาท เพื่อสมทบในการก่อสร้างอาคารกิจกรรมทางการศึกษา (ศาลาพักผ่อนรูปโดม) และสนามฟุตบอลพร้อมลู่วิ่ง  ซึ่งอาคารฝึกอบรมท้องถิ่น  (อาคารเรียน) คาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมรองรับการฝึกอบรมหลักสูตรการบริหารงานท้องถิ่น และจัดการเรียนการสอนระดับปริญญาโทก่อนเปิดภาคการศึกษาที่ 1/2552

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้รับจัดสรรงบประมาณจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี เป็นเงิน 2,000,000 บาท เพื่อก่อสร้างอาคารกิจกรรมทางการศึกษา (ศาลาพักผ่อนรูปโดมบนยอดเขามะตูม) เพื่อทำให้มีแหล่งพักผ่อนหย่อนใจและเป็นจุดชมทัศนียภาพของมหาวิทยาลัยและบริเวณข้างเคียง  การก่อสร้างอาคารชมทิวทัศน์ ศาลาโดมบนเขามะตูม  จะทำให้เห็นทัศนียภาพของมหาวิทยาลัยในมุมกว้างและยังสามารถเห็นทัศนียภาพของเมืองพัทยารวมไปถึงทัศนียภาพของเขาชีจรรย์  ซึ่งอาคารชมทิวทัศน์สามารถเป็นสถานที่ของการทำกิจกรรมต่างๆได้  ตลอดจนยังเป็นการปรับปรุงทัศนียภาพของเขามะตูมให้สวยงามยิ่งขึ้น

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้รับจัดสรรงบประมาณจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี เป็นเงิน 3,000,000 บาท เพื่อก่อสร้างสนามฟุตบอลพร้อมลู่วิ่ง เพื่อเป็นสถานที่ในการจัดกิจกรรมกีฬาต่างๆ เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และชุมชน  โดยการนำกีฬาเข้ามาเป็นกิจกรรมสร้างความสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมการจัดกิจกรรมกีฬาของบุคลากร และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้เล็งเห็นถึงความจำเป็นที่จะผลิตวิศวกรยานยนต์ที่มีคุณภาพเพื่อตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและการเข้ามาของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน จึงได้ก่อตั้ง โครงการหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิศวกรรมยานยนต์ (หลักสูตรภาคภาษาอังกฤษ) ขึ้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา ซึ่งเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย โดยโครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากบริษัท สยามกลการ จำกัด ที่จะสนับสนุนงบลงทุนก่อสร้างอาคารปฏิบัติการวิศวกรรมยานยนต์ ขนาด 5000 ตารางเมตร เป็นเงิน 60,000,000 บาท

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจำนวน 30,000,000 บาท จากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เพื่อก่อสร้างอาคารสนับสนุนการเรียนการสอน (หอพักนักศึกษา) 2 หลัง จำนวน 48 ห้อง เพื่อรองรับการจัดการเรียนการสอนระดับปริญญาตรี ณ ศูนย์พัทยาในปีการศึกษา 2558

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้รับอนุมัติงบประมาณก่อสร้าง อาคารเรียนและปฏิบัติการรวม ซึ่งอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง เพื่อรองรับการพัฒนาตามแผนการพัฒนา มธ.ศูนย์พัทยา

การพัฒนากิจกรรมต่างๆ  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา ได้มีการดำเนินงานในหลายด้าน กล่าวคือการเรียนการสอน

ระดับปริญญาโท

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา ได้เปิดการเรียนการสอนในระดับปริญญาโท 4 สาขา ตั้งแต่ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2549   ได้แก่

  • หลักสูตรการบริหารเทคโนโลยี วิทยาลัยนวัตกรรม
  • หลักสูตรพัฒนาชุมชนมหาบัณฑิต ภาคพิเศษ ศูนย์พัทยา คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์
  • หลักสูตรการเมืองการปกครองสำหรับนักบริหาร คณะรัฐศาสตร
  • หลักสูตรนวัตกรรมการบริการ วิทยาลัยนวัตกรรม

ระดับปริญญาตรี

  • หลักสูตรวิศวกรรมยานยนต์ คณะวิศวกรรมศาสตร์
  • วิศวกรรมซอฟต์แวร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์

การเชื่อมเครือข่ายเพื่อรองรับการเรียน การสอน และการฝึกอบรม

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายจากรายได้พิเศษ มธ.ปี 2549  เพื่อเดินสายสัญญาณเครือข่ายระหว่างห้องสมุด มธ.ศูนย์พัทยากับศูนย์เครือข่ายกลาง / อุปกรณ์กระจายสัญญาณ และงานเดินสายกระจายสัญญาณเครือข่าย   การให้บริการหนังสือวัสดุสารสนเทศต่าง  ๆ  และครุภัณฑ์ห้องสมุด มธ.ศูนย์พัทยา    โดยได้เปิดให้บริการห้องสมุด ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา  เป็นครั้งแรกตั้งแต่ปีการศึกษา  2549 เป็นต้นมา เพื่อรองรับการเรียนการสอน และรองรับการฝึกอบรมการบริหารงานท้องถิ่น  ทั้งนี้  มีการดำเนินงานเพื่อให้เป็นศูนย์กลางเครือข่ายฐานข้อมูลท้องถิ่น โดยนำร่องก่อนที่อำเภอบางละมุง นอกจากนี้  ยัง มีแผนจะขอรับการสนับสนุนจากองค์กรปกครองท้องถิ่นในการจัดตั้งห้องสมุดประชาชน  โดยมีเป้าหมายให้ครอบครัวในชุมชนพื้นที่ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ร่วมกัน  โดยเป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าเรื่องที่สนใจและพักผ่อนร่วมกันของชุมชนในพื้นที่

การพัฒนาเป็นศูนย์ฝึกอบรมสัมมนา

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดกิจกรรมฝึกอบรมเกี่ยวกับการบริหารงานท้องถิ่น ตามข้อตกลงความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และองค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี โดยมอบหมายให้สถาบันสัญญา ธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตยรับผิดชอบดำเนินการหลักสูตร

อย่างไรก็ตามอาคารฝึกอบรมสัมมนา อาคารโรงแรม อาคารบ้านพักศูนย์ฝึกอบรมการบริหารงานท้องถิ่น  อาคารฝึกอบรมการบริหารงานท้องถิ่น  อาคารบริการจัดเลี้ยง อาคารสโมสรและสระว่ายน้ำ  มหาวิทยาลัยมีแผน เพื่อทำให้การจัดฝึกอบรมสามารถดำเนินงานได้อย่างสะดวก และมีหลักสูตรการอบรมที่หลากหลายและครอบคลุมในทุกด้าน เพราะปัจจุบันองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องแสวงหาหลักวิชาการมากมายเพื่อรองรับภาระงานที่ได้รับการถ่ายโอนอำนาจ อาทิ งานด้านผังเมือง อาชีวอนามัย สิ่งแวดล้อม เป็นต้น ดังนั้นเพื่อพัฒนาการบริหารงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในด้านต่างๆ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ซึ่งมีคณะวิชาที่มีความพร้อมและสามารถสนับสนุนการเพิ่มพูนความรู้ ความสามารถและพัฒนาองค์กรปกครองท้องถิ่นได้ จึงต้องมีแผนงานในการเปิดหลักสูตรการฝึกอบรมต่างๆให้หลากหลายและตอบสนองความต้องการของท้องถิ่นและชุมชนเพิ่มขึ้น และนอกเหนือจากการเปิดหลักสูตรที่เกี่ยวกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้ว ยังมีกลุ่มเป้าหมายเป็นหน่วยงานต่างๆในพื้นที่ ซึ่งมีทั้งภาคเอกชน และชุมชน

เป้าหมาย

ศูนย์พัทยา จะต้องส่งเสริมและสนับสนุนเรื่องต่างๆ เหล่านี้ เพื่อให้บรรลุพันธกิจ ดังนี้

  • การจัดวางระบบบริหารจัดการ วางแผน ประสานงาน ติดตามประเมินผล เพื่อให้เกิดระบบการจัดการต่าง ๆ ด้วยดี ทั้งด้านบริหารบุคคล ระบบการเงินการคลัง ระบบสาธารณูปโภค และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลสูงสุด
  • สนับสนุนให้มีการจัดการเรียนการสอน และการผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ความสามารถและสนองต่อความต้องการของท้องถิ่น และประเทศ
  • นำเทคโนโลยีมาใช้อย่างเต็มที่ คุ้มค่าการลงทุน และก่อให้เกิดประสิทธิภาพ ประสิทธิผลสูงสุด
  • ให้มีบุคลากรประจำศูนย์พัทยา โดยจะต้องมีการพัฒนาและเอาใจใส่อย่างเต็มที่
  • จัดให้มีการใช้อาคารสถานที่อย่างเต็มที่ โดยจัดสภาพแวดล้อมภายในศูนย์พัทยา ให้มีความพร้อมสมบูรณ์เพียงพอ ที่จะให้บริการแก่นักศึกษา บุคลากร และชุมชน
  • ประสานกับศิษย์เก่า ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และส่วนราชการในพื้นที่ให้ความร่วมมือ และให้การสนับสนุนกิจกรรมต่าง ๆ ของศูนย์พัทยาอย่างดี และสม่ำเสมอต่อเนื่อง